You are currently viewing คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย เตรียมตัว ก่อน..การผ่าตัดหัวใจ

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย เตรียมตัว ก่อน..การผ่าตัดหัวใจ

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย เตรียมตัว ก่อน..การผ่าตัดหัวใจ

การผ่าตัดหัวใจ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง เพราะเหตุว่ามันเป็นการผ่าตัดใหญ่ …ความเครียด ความวิตกกังวล จึงเกิดกับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน …และการผ่าตัดหัวใจในผู้ป่วยแต่ละราย ก็มีความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย หนักเบาไม่เท่ากันอีกเช่นกัน

มีคนไข้ของผมหลายท่าน ที่มักจะสอบถามว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนการผ่าตัดหัวใจ …คือ เล่าแล้วมันยาว ก็เลยสรุปให้อ่าน ณ ที่นี้ เลยจะสะดวกกว่า

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดหัวใจ จะมีหลักๆไม่กี่ประเด็น สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  1. เรื่องการงดสูบบุหรี่ อย่างน้อยสองสัปดาห์ก่อนผ่าตัด (การงดบุหรี่ ถือเป็นข้อปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการผ่าตัด ทุกประเภทที่ต้องมีการวางยาสลบ เพราะหลังผ่าตัด ผู้ป่วยควรจะต้องไอ เพื่อเคลียร์เสมหะ ปอดจะได้ขยายเต็มที่ การสูบบุหรี่ ทำให้เสมหะปริมาณมากขึ้น และเหนียวข้น ปอดจะขยายตัวไม่ได้เต็มที่ และอาจจะเกิดปอดอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อน จนถึงชีวิตได้)
  2. ให้ประวัติความเจ็บป่วยในปัจจุบัน กับแพทย์ และพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่รักษาอยู่หลายหมอ และอาจจะหลายโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่า ข้อมูลการแพทย์ในยุคไอที 4.0 นี้ …มันไม่ได้ลิงค์ถึงกัน และก็ไม่ได้ sync ถึงกันแต่อย่างใดเลยด้วย… ถ้าหากเราไม่บอกหมอ.. แล้วไปทึกทักเอาว่า หมอคือผู้วิเศษที่มี พลังในการหยั่งรู้ว่า คุณเป็นโรคอย่างอื่นอะไรบ้าง กำลังทานยาอะไรอยู่ แบบนี้ เท่ากับเราไปเพิ่มความเสี่ยงต่อตัวเราโดยใช่เหตุ …เพราะข้อมูลประวัติความเจ็บป่วยของตัวเองนั้น ไม่มีใครทราบดีมากไปกว่าตัวเราเอง . คนป่วยหลายท่าน ทึกทักเอาว่า ..ก็ประวัติมันอยู่ในแฟ้มหนาๆอันนั้นนี่นา หมอก็ต้องรู้ทั้งหมดแล้วซิ …แต่ในทางปฏิบัติจริง มนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆท่านๆ ไม่มีทางที่จะสแกนข้อมูลในแฟ้มหนาๆที่อ่านยากๆ ได้หมดในเวลาออกตรวจคนไข้ …คิดดูว่า ขนาดคนป่วยที่รักษาอยู่โรงพยาบาลเดียวกันกับโรงพยาบาลที่จะทำการผ่าตัดหัวใจ หมอยังอาจจะไม่ทราบโรคทั้งหมดได้ถี่ถ้วนพอ แล้วถ้าหากเป็นเคสที่มีการส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่น มารับการผ่าตัดหัวใจที่อีกโรงพยาบาลล่ะ…มันมีโอกาสมั่วขนาดไหน   
  1. การให้ประวัติการทานยา รวมทั้งอาหารเสริมพวกสมุนไพร หรือกระทั่งแคบซูลน้ำมันปลาที่ทานอยู่ในปัจจุบัน กับแพทย์ พยาบาล โดยละเอียด
  1. การให้ประวัติการแพ้ยา ที่เคยได้รับมาก่อน ไม่ว่าจะโดยการทาน หรือการฉีด …โดยเฉพาะ ยาที่ทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นตามตัว ผื่นเป็นปื้นหนา ที่ริมฝีปาก หรือช่องปาก
  1. การหยุดทานยา ก่อนการผ่าตัด มีตั้งแต่ยาต้านเกร็ดเลือด ยาชะลอการแข็งตัวของเลือด (ชาวบ้านเราชอบเรียกว่า “ยาละลายลิ่มเลือด” … “ยาลิ่มเลือด” …ซึ่งยาเหล่านี้ ไม่ได้ไป “ละลาย” ลิ่มเลือด แต่อย่างใด .มันเพียงแต่ยับยั้งการเกาะตัวของลิ่มเลือด) นอกจากนี้ ก็จะมียาลดความดันบางตัว ที่ควรจะงดก่อนการผ่าตัดหัวใจ เพราะถ้าหากทานต่อเนื่องถึงวันผ่าตัด บางที อาจจะเกิดปัญหาไตไม่ทำงานได้
  1. การตรวจฟัน ในผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ควรจะต้องได้รับการตรวจฟัน ก่อนการผ่าตัด เพราะการที่มีฟันผุอยู่ สามารถทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อได้ และถ้าหากสมมุติว่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจไปวันนี้ แล้วอีกสามเดือนจะมาทำฟัน ..ผู้ป่วยก็ต้องมีขั้นตอนก่อนการทำฟัน (ต้องทานยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการทำฟัน, ต้องหยุดยาชะลอการแข็งตัวของเลือด ..มันไม่ยุ่งยากอะไรมาก แต่สำหรับคนไข้และหมอฟัน อาจจะเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก)
  1. การเตรียมใจ รับทราบข้อมูลข้อดีข้อเสียต่างๆ ของการผ่าตัด ข้อดี ข้อเสียต่างๆของการรักษาโดยการผ่าตัด และการรักษาโดยไม่ผ่าตัด เรื่องนี้ อาจจะพูดง่าย …แต่เอาเข้าจริงแล้ว เป็นเรื่องที่คุยกันไม่รู้เรื่องได้มากที่สุด โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องโอกาสเสียชีวิต ซึ่งอาจจะไม่มาก …ข้อมูลอ้างอิงหลายแหล่งบอกว่า ราวๆร้อยละ 3…แต่มันคือ ทุกๆ 33 ราย…มีม่องเท่ง 1 ราย…เยอะมั้ย ?…มันแล้วแต่มุมมอง แต่ถ้าหากหลังผ่าตัด คนไข้เกิดไม่รอดจริงๆขึ้นมา …ไอ้ที่เคยคุยไว้ก่อนผ่าตัด กลับกลายเป็นไม่เข้าใจกันได้
  1. รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆในการผ่าตัด ที่ “ควรทราบ” เช่น ชนิดของลิ้นหัวใจเทียม ว่าจะเอาแบบไหน.. ชนิดของหลอดเลือดที่จะเอาไปใช้ทำทางต่อบายพาสเส้นเลือดหัวใจที่ตีบ
  2. การเตรียม “ผู้ทำการแทนของตนเอง” เรื่องนี้ หลายคนมองข้ามไปได้ง่ายๆ ถ้าหากไม่ได้คิดเตรียมวางแผนเอาไว้อย่างรอบคอบพอ คือ การผ่าตัดหัวใจ หรือผ่าตัดใหญ่อื่นๆ หลังออกจากห้องผ่าตัด ผู้ป่วยอาจจะยังไม่ตื่นจากยาสลบ (ทีมศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์หัวใจที่เชี่ยวชาญบางแห่ง จะให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบทันทีหลังผ่าตัด) และเมื่อฟื้นรู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องการการพักฟื้นในห้องอภิบาลผู้ป่วยหนักไปอีกระยะหนึ่ง …ทีนี้ ไอ้ที่หมอผ่าตัดอย่างพวกผมต้องการ ก็คือ “ผู้ทำการแทน” หรือ “คณะผู้ทำการแทน” ที่ได้รับมอบหมายเป็นมั่นเป็นเหมาะจากผู้ป่วยเอง ให้รับรู้ รับทราบปัญหา หรือความคืบหน้าในการรักษาหลังการผ่าตัดหัวใจ ว่าตอนนี้ รักษาไปถึงไหนแล้ว ผ่าตัดไปแล้ว ประสบความสำเร็จด้วยดี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง ต้องทำอะไรต่อไป และจะเกิดอะไรขึ้นตามมา หรือคนไข้จะหายดีพร้อมกลับบ้านได้ในกี่วัน หรือ….คนไข้อาการหนัก เข้าขั้นวิกฤต เจียนอยู่เจียนไป… จะให้หมอบอกให้ชัดเจนกับใครเป็นหลัก..
  3. การวางแผนจัดการ หลังการผ่าตัด เรื่องนี้มีไม่น้อยที่มองข้ามไป ก็เพราะไม่ได้คิดวางแผนไว้ล่วงหน้านั่นเอง หลายคนจึงปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆมันเกิดก่อน แล้วค่อยว่ากันเฉพาะหน้าไป …แต่การผ่าตัดหัวใจจะวางแผนแบบนั้นไม่ได้ เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้ว ว่าการผ่าตัดหัวใจ จะต้องการเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัด อาจจะหลายสัปดาห์ บางคนพอหมอจะให้กลับบ้าน ญาติมาบอกว่า ที่บ้านยังเตรียมห้องหับไม่พร้อม (แล้วทำไมไม่จัดการตั้งแต่ก่อนจะผ่า) อีกอย่างก็คือ การผ่าตัดหัวใจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คร่าวๆแล้ว ราวๆร้อยละสาม …หรือ 33 ราย..ไปไม่รอดหนึ่งราย แต่แน่นอนว่า อาจจะน้อยกว่านี้มากๆ หรือมากกว่านี้มากๆ แล้วแต่เคสไป ไม่เหมือนกันทั้งหมด …ดังนั้น ถ้าหากเกิดโชคไม่เข้าข้างเรา พระเจ้าอยากรับตัวไปอยู่ด้วย เราก็ต้องวางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัดแล้ว …ถ้ามีมรดกที่ต้องแบ่ง หรือต้องจัดการ ก็ต้องเตรียมการไว้ก่อนจะทำอย่างไร … ถ้ามีเอกสารสัญญาต่างๆ เงินกู้ บัตรเครดิต ฯลฯ ก็ต้องเตรียมพร้อมกับ “ผู้ทำการแทนตนเอง”

ที่กล่าวมา สิบประการข้างต้น คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด แบบคร่าวๆ นะครับ แต่ละประเด็น ผมจะค่อยๆสาธยาย เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริง ทีละช๊อตๆ ในบทความต่อไปครับ

 

นพ.สัญญา เที่ยงบูรณธรรม

ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก

 

Leave a Reply