You are currently viewing ความดันโลหิตสูง – อารัมภบท

ความดันโลหิตสูง – อารัมภบท

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิต…สำคัญอย่างไร

ผมเชื่อว่า เราเกือบทุกคน คงคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า อุปกรณ์วัดความดันเลือด…ซึ่งลักษณะของอุปกรณ์วัดความดันที่ว่านี้ มีตั้งแต่รุ่นมาตรฐานดั้งเดิม (ที่เป็นแถบผ้าพันรอบแขนและมีสายยางสีดำๆ ต่อออกมาจากแถบผ้า ไปต่อกับแท่งแก้วที่บรรจุแกนปรอท มีลูกยางเอาไว้ปั้มลมอัดเข้าไปในแถบผ้า) ไปจนถึงเครื่องวัดความดันเลือดสมัยใหม่ ที่ไม่ต้องมาคอยบีบลูกยาง แล้วต้องมาจดจ้องดูระดับความสูงของปรอทที่ลดลงๆ ช้าๆ หลังจากคลายลูกยาง

..จากนั้น เมื่อสามารถระบุตัวเลขความดันเลือดได้ว่ามากน้อยเท่าไหร่ เราก็สามารถบอกได้ว่า ความดันเลือดในขณะนั้น สูงเกินไป ต่ำเกินไป หรือเป็นปกติดี

…แต่ทว่า…เราเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่า ว่าทำไมเราต้องมานั่งวัดความดันเลือดกันด้วย

มันจะจำเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ…ไอ้แค่ตัวเลขความดันเลือด

เรื่องรายละเอียดแค่การตรวจความดันเลือด แล้วระบุได้ว่าเมื่อไหร่จะเข้าเกณฑ์ของโรคความดันเลือดสูง สามารถหาอ่านได้จาก ที่นี่

และถ้าเกิดว่า เราวัดความดันเลือดตัวบนได้เกินกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท …บางที หมอเขาอาจจะให้เริ่มทานยาลดความดันเสียอีก…..อ้าวว..ทั้งๆที่เราไม่ได้มีอาการอะไรนะ ต้องกินยาลดความดันเลือดด้วยเหรอ?

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่า…ที่เราๆทั้งหลายไปโรงพยาบาลแต่ละครั้ง พยาบาลจะต้องมาวัดความดันที่แขนเรา ก่อนที่จะให้เจอกับหมอ..จนเรามองเรื่องการวัดความดันเลือด แทบจะเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน..แต่เมื่อราวๆห้าสิบปีก่อนนี่เอง…ที่หมอส่วนมากไม่ได้คิดว่า การวัดความดันเลือด มันสลักสำคัญอะไรมากด้วยซ้ำ

เมื่อราวๆ ช่วงปี ค.ศ. 1930 – 1970 กว่าๆนั้น ..แพทย์ส่วนมากจะเห็นพ้องกันว่า ความดันเลือดที่อยู่ระดับสูงนั้น เป็นเพราะการปรับตัวให้เข้ากับการตีบแคบของหลอดเลือดที่มีมากขึ้น ตามอายุ หรือก็คือ…ในช่วงห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ที่หมอส่วนมาก จะมี “ความเห็น” ว่า ระดับความดันเลือดสูงๆ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะของร่างกายให้เพียงพอ และหมอเราก็ไม่ควรไปทำการลดความดันเลือดลงมา ยกเว้นว่าเกิดความดันสูงจนตาพร่ามัว สมองบวม มีอาการซึมลง…นั่นแหละ ถึงจะให้ยาลดความดันได้

และการที่หมอส่วนมากขณะนั้น มีความเชื่ออย่างฝังลึกว่า ความดันเลือดระดับสูงๆ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ …จึงเรียกโรคความดันสูงนี้ว่า essential hypertension ซึ่งแปลความตรงตัวว่า ..”ความดันสูงโดยจำเป็น”

ดังในภาพข้างต้น ถ้าหากเราเอานิ้วหัวแม่มือไปอุดสายยาง กระแสน้ำที่ฉีดออกมา (คิดเป็นปริมาตรต่อช่วงเวลาหนึ่งๆ) จะอยู่ในระดับคงที่ได้ ก็ต่อเมื่อ แรงดันน้ำ ต้องเพิ่มขึ้น…สมมุติว่า ถ้าหากเราเซ็ทระบบปั้มน้ำ ว่าต้องปั้มออกห้าลิตรต่อนาที.(หัวใจสูบฉีดเลือดทั่วร่างกายห้าลิตรต่อนาทีโดยประมาณ)..เมื่อสายยางมันถูกบีบแคบลง ก็เท่ากับว่า ปั้มน้ำต้องออกแรงปั้ม มากขึ้น เพื่อจะรักษาระดับห้าลิตรต่อนาทีเอาไว้ได้ แสดงว่า แรงดันในสายยางต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นที่มาว่า หมอสมัยห้าสิบปีก่อน มีหลักคิดว่า เมื่อหลอดเลือดตีบแคบลง (จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ที่ขณะนั้นยังไม่ทราบกัน) ความดันเลือดจำเป็นต้องสูงขึ้น เพื่อที่จะทำให้อัตราการสูบฉีดเลือดไปร่างกาย คงที่เท่าเดิม

ภาวะความดันเลือดสูง ที่มีมากขึ้นๆตามอายุนั้น วิทยาการแพทย์ในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่อาจจะทราบสาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมพอคนเราอายุอานามมากขึ้นๆ โดยเฉพาะเมื่อเลยเลขห้าไปแล้ว ยิ่งพบความดันเลือดสูงได้มากกว่าครึ่ง …โรคความดันเลือดสูง ที่แต่ก่อนนั้นไม่อาจจะหาสาเหตุฟันธงลงไปได้ว่าเกิดจากอะไร เราก็มักจะเรียกไปรวมๆว่า essential hypertension (ซึ่งแฝงนัยยะว่า การที่ความดันเลือดสูงนั้น เป็นเพราะร่างกายจำเป็นต้องปรับให้แรงดันเลือดเพิ่ม จะได้ผ่านเส้นเลือดที่ตีบตันได้เหมือนเดิม)

ส่วนกรณีที่ความดันเลือดสูงๆ เกิดจากสาเหตุหนึ่งสาเหตุใด ถ้าหากแก้เหตุนั้นๆ เพียงเหตุเดียวแล้ว ความดันเลือดก็จะกลับมาปกติ…อันนี้ เราเรียกว่า ความดันสูงเพราะเหตุอื่น หรือ..secondary hypertension ซึ่งเป็นโรคความดันเลือดสูงที่พบได้น้อยกว่า โรคความดันเลือดสูงในกรณีแรก ซึ่งมักมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองอย่าง หากแต่เป็นภาวะองค์รวมทั้งหมดของระบบต่างๆในร่างกาย ที่เสียสภาพสมดุลไป จนมากระทบต่อระบบไหลเวียนกระแสเลือด

แล้ว…มันจริงหรือเปล่าที่ “การที่ความดันเลือดสูงนั้น เป็นเพราะร่างกายจำเป็นต้องปรับให้แรงดันเลือดเพิ่ม จะได้ผ่านเส้นเลือดที่ตีบตันได้เหมือนเดิม”…

เราลองมโนภาพดูครับว่า…ในสมัยห้าสิบหกสิบปีก่อนนั้น …ถ้าหากหมอคนไหนพูดว่า “คุณป้า เป็นโรคความดันเลือดสูงนะ ต้องทานยารักษานะ”….รับรองว่า หมอท่านนั้น ถูกสังคมแพทย์รุมประณามว่า…ไอ้หมอนี่ malpractice… หมายถึง …ไอ้หมอนี่ รักษามั่วมากๆ..นั่นเองครับ…และอาจารย์โรงเรียนแพทย์ก็จะออกมาให้ความรู้กับประชาชนว่า…การที่คุณมีความดันเลือดสูง มันเป็นภาวะอย่างหนึ่ง ที่จำเป็นต่อระบบไหลเวียนเลือด ให้มีเลือดพอส่งไปเลี้ยงจุดต่างๆทั่วร่างกาย …แม้ว่าการแพทย์เราจะสามารถลดระดับความดันลงได้ แต่เราก็ไม่ควรไปแตะต้องมันเลย” (Reference: Goldring W, Chasis H. Antihypertensive drug therapy: An appraisal. In Ingelfinger FJ, Relamn AS, Finland M (eds). Controversies in Internal Medicine. Philadelphia, WB Saunders, 1966; pp 83-91.)

แล้ว..มันไปอย่างไรมาอย่างไร เกิดอะไรขึ้น ถึงทำให้ความเห็นของหมอระดับปรมาจารย์ส่วนมาก ในขณะนั้น เกิดเปลี่ยนกลับหน้ามือเป็นหลังมือในราวปี 1970 ….

จะว่าเป็นเพราะช่วงปีนั้น ประธานาธิบดี Richard Nixon เกิดเฮี้ยนยกเลิกการผูกติดดอลล่าร์สหรัฐกับทองคำ…น่ะหรือ?…ก็ไม่น่าจะเกี่ยว (แหะ แหะ…นอกเรื่องนิดครับ)

เราลองนึกภาพดีๆนะครับ…ว่าหมอระดับพระกาฬ ตามโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ พากันบอกว่า ความดันเลือดสูง ก็ปล่อยไปตามนั้น ไม่ต้องรักษา (ยกเว้นกรณีที่ความดันสูงมากจนสมองบวมเท่านั้น ที่ต้องรีบให้การลดความดันเลือดลงมา) หมอทั่วๆไปเขาก็ต้องเชื่อแน่นอน…มันทำไมตรงข้ามกับเรื่องราวในปัจจุบันนี้ ที่ว่าหากใครความดันเลือด(ตัวบน)สูง 150 – 160 มิลลิเมตรปรอท ทุกครั้งที่มาเจอหน้าหมอ หมอคงต้องสั่งยาลดความดันแน่นอน

สิ่งที่สามารถทำให้ “ความเห็นผิด” ในการรักษาความดันเลือดสูง ทลายลงไปได้นั้น ก็เพราะด้วยหลักฐานทางการแพทย์ที่มาจากการศึกษาที่มีความรัดกุมเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่การเก็บข้อมูลส่งเดช แล้วก็มาสรุปเอาดื้อๆ

หากอยากทราบรายละเอียด ของการศึกษาทางการแพทย์ที่มีความรัดกุมเป็นอย่างดีนั้น มันคืออะไร …ติดตามอ่านได้จาก ที่นี่..

การศึกษาทางการแพทย์เหล่านี้ มีความน่าเชื่อถือได้ ก็เพราะความก้าวหน้าทางวิชาสถิติ และทางคณิตศาสตร์ จนทำให้การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ที่เป็นระบบ น่าเชื่อถือในข้อสรุปที่ได้ …แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมาจากการเก็บข้อมูลที่ “ซื่อสัตย์ ..ไม่ใช่เก็บข้อมูลแบบสอดใส้ ตระบัดสัตย์ ด้วยนะครับ

และเมื่อมีข้อสรุปจากการศึกษาที่เป็นภาวะวิสัย (objective conclusion) มันก็ย่อมต้องทำให้ข้อสรุปที่มาจากการคิดเอาเองตามเหตุตามผล  ..แม้จะเป็นตรรกะเหตุผลของผู้เชี่ยวชาญก็ตาม..ต้องถูกเบียดตกไป..

คือในทางการแพทย์…เมื่อมีหลักฐานจากข้อมูลการศึกษาวิจัยที่แน่ชัด..หมอก็ยากจะแถต่อไปไหว…

จะเรียกว่า..ผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะกระดูกเบอร์ไหน ก็ต้องยอมจำนนต่อหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ ก็คงไม่ผิดนัก

อ้างอิง.  1. Hypertension. Companion to Brenner & Rector’s The Kidney. Chapter 1.
2. Goldring W, Chasis H. Antihypertensive drug therapy: An Appraisal. In Ingelfinger FJ, Relamn AS, Finland M (eds). Controversies in Internal Medicine. Philadelphia, WB Saunders, 1966; pp 83-91.)

Leave a Reply