You are currently viewing ประวัติศาสตร์ของ “ความดันโลหิต” ตอน 1

ประวัติศาสตร์ของ “ความดันโลหิต” ตอน 1

ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ เกี่ยวกับเรื่องความดันโลหิตสูง ถ้าจะนับย้อนหลังไปจริงๆ ก็ต้องเริ่มที่ยุคต้นประวัติศาสตร์ของชาติจีนเลยทีเดียว กล่าวคือ บันทึกที่เกี่ยวข้องกับ “ความดันโลหิตสูง” มีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเหลือง (黄帝 – ฮว๋าง ตี้) เมื่อราว 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4,600 ปีมาแล้ว 

จักรพรรดิเหลือง (ฮว๋าง ตี้) 4,600 ปีก่อน

หนังสือที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีคือ  黄帝内经 (ฮว๋าง ตี้ เน่ย จิง หรือที่ตำราฝรั่งเอาไปเรียกว่า Yellow Emperor’s Classic of Internal Medicine ได้กล่าวเอาไว้ว่า “การทานเกลือมาก จะทำให้หลอดเลือดชีพจรที่ข้อมือ มีความ  ‘ตึงตัว’ มากกว่าคนที่ทานเกลือปกติ …โดยตำราโบราณฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า หัวใจเป็นบ่อเกิดของชีพจร (ในการแพทย์จีนกล่าวว่า ชีพจรเกิดจากการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาศัยการทำงานของหยางหัวใจ และชี่หัวใจ โดยมีเลือดและหยินหัวใจเป็นองค์ประกอบ) นอกจากนี้ คัมภีร์โบราณเล่มนี้ ยังระบุไว้ละเอียดด้วยว่า “ชีพจรตึงตัว” เป็นสาเหตุของการเกิดอาการหัวใจวาย น้ำท่วมปอด ขาบวม ไตเสียการทำงาน… ไม่น่าเชื่อว่า คนโบราณยุคต้นประวัติศาสตร์ จะมีความเข้าใจว่า ความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจวายได้แจ่มชัดขนาดนี้

ชีพจรกระด้าง ทำให้เกิดอาการหัวใจวาย

        Yellow Emperor’s Classic of Internal Medicine

ส่วนทางด้านปราชญ์กรีกโบราณ ไม่ว่าจะเป็น Hippocrates หรือแพทย์กรีกโบราณที่มีชื่อเสียงมาก อย่าง Galen (131 – 201 หลังคริสตกาล ชื่อท่านปรากฏเป็นชื่อของเส้นเลือดดำสำคัญในสมอง Vein of Galen) ต่างก็ค้นพบกับ “ชีพจรตึงตัว” หรือ hard pulse แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองท่าน ยังไม่ได้สรุปว่า ชีพจรตึงตัวนี้ เป็นสาเหตุของการเกิดเส้นเลือดสมองแตก/ตีบตัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากผืนพิภพนี้ มีท่านซินแสจับพะแมะ (把脉 ปา ม่าย) เมื่อราว 4,600 ปีก่อน ก็ปรากฏว่ายังไม่มีผู้ใด กระทำการวัดค่าแรงดันเลือดในหลอดเลือดแดงอย่างเป็นกิจลักษณะ ออกมาเป็นค่าตัวเลขชัดๆ นานร่วมๆ สี่สหัสวรรษเลยทีเดียว

ก็เพิ่งจะเมื่อปี ค.ศ. 1733 นี้เอง ที่ปรากฏบุรุษคนแรกที่ได้ทำการวัดค่าความดันออกมาเป็นตัวเลขชัดๆ แม้ว่าการวัดค่าความดันเลือดในหลอดเลือดแดงนี้ จะออกแนวโหดไปหน่อยก็ตาม แต่ก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ .. โดยผู้ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักบวช นามท่านสาธุคุณ Stephen Hales ทำการวัดแรงดันเลือดแดง โดยการแทงหลอดแก้วปลายแหลม เข้าไปที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอของอาชาที่น่าสงสารโดยตรง เจ้าม้าตัวนั้น ก็ถูกมัดแน่นหนาในท่านอนแผ่ และแล้วเลือดที่พุ่งเป็นลำขึ้นไปในแท่งแก้วยาวหลายฟุต ก็สังเกตเป็นจังหวะชีพจรขึ้นๆลงๆ ในแท่งแก้วนั้น 

Stephen Hales ทำการเจาะลำแท่งแก้วเข้าไปที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ของม้า เป็นการวัดความดันเลือดแดงเป็นตัวเลขครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ความสูงของลำเลือดในแท่งแก้ว ตอนแรกขึ้นไปถึง 9 ฟุต ต่อมาก็พบว่ามันค่อยๆต่ำลงๆ เรื่อยๆ – ความดันตกลงนั่นเอง เหมือนคนที่เสียเลือดมากจนเกิดภาวะช๊อค – hemorrhagic shock – ความดันต่ำลงๆ ตามระดับเลือดในแท่งแก้วที่ลดลงๆ จนในที่สุด เจ้าอาชาผู้น่าสงสารตัวนั้น ก็หมดลมหายใจไป

แน่นอนว่า …วิธีการวัดความดันแนวโหดแบบนี้ คงไม่เหมาะจะเอามาใช้ตรวจวัดความดันกับคนป่วยแน่นอน ตายกันหมดพอดีครับ – แต่..เอ๊ะ จะใช้คำว่าคนป่วยยังไม่ได้ทีเดียว เพราะสมัยนั้น ภาวะความดันเลือดสูงๆ ถ้าไม่สูงแบบ 200/120 มม.ปรอท จะยังไม่ถือว่าเป็นโรค และก็ไม่มีแรงจูงใจประการใด ที่จะเห็นว่า ต้องวัดความดันในหลอดเลือด ดังนั้น เราคงพอมองออกว่า ในยุคสามร้อยปีก่อน …หรือประมาณยุคอโยธยาศรีรามเทพนคร นั้น.. การแพทย์ในสมัยนั้น ยังไม่มีคำว่า “โรคความดันโลหิตสูง” แต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ก็มีคนพยายามหาวิธีวัดความดันเลือดแบบ “นุ่มนวล” อยู่มากมายหลายวิธี แต่แล้ว วิธีการวัดความดันที่ถือว่าดีที่สุด เหมาะสมที่สุด จนกลายมาเป็น Gold Standard จนปัจจุบันนั้น ต้องยกให้นายแพทย์ชาวรัสเซีย นามว่า Nicolai Korotkov  (Russian: Николай Серге́евич Коротков – ชื่อภาษาอังกฤษ แผลงเป็นคำว่า Korotkoff)

ท่าน Korotkov ค้นพบวิธีการวัดความดันที่เป็นมาตรฐานมาจวบจนปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1905 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิรก ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่นักฟิสิกส์นามอุโฆษของโลก ตีพิมพ์บทความการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ สามบทความในปี 1905 เดียวกันนั้นด้วย

สำหรับวงการวิทยาศาสตร์แล้ว ปี 1905 นับว่าเป็นปีแห่งความมหัศจรรย์ – annus mirabilis – Year of Miracle เพราะท่าน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะ และการค้นพบพื้นฐานทางควอนตัมฟิสิกส์อีกเรื่องอนุภาคของแสง ….แต่อย่างไรก็ตาม การค้นพบของ นายแพทย์ชาวรัสเซียในปีเดียวกันนี้ กลับมีคนกล่าวถึงไม่มากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม นาย Korotkoff ท่านก็ไม่ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดความดันด้วยตนเองทั้งหมดแต่ประการใด หากแต่ท่าน “ยืนบนไหล่ของยักษ์” คือ ใช้สิ่งที่ผู้อื่นได้ค้นคว้าเอาไว้แล้วก่อนหน้านั้น เอามาต่อยอด โดยผู้ที่คิดค้น อุปกรณ์ต้นแบบที่เราใช้วัดความดันแบบปัจจุบันนั้น คือ นายแพทย์ชาวอิตาเลียน นามว่า Scipione Riva Rocci

การวัดความดันโลหิต ตามแบบของ นายแพทย์ Scipione Riva Rocci

นายแพทย์ Rocci ท่านเกิดในปี ค.ศ. 1863 และจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1888 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้น ท่านได้ประดิษฐ์อุปกรณ์วัดความดันแบบใช้ปรอทเป็นคนแรกของโลก เมื่อปี ค.ศ. 1896 โดยใช้วัสดุพื้นๆที่หาได้ง่าย เช่น ใส้ในล้อจักรยาน ขวดหมึก ปรอท แท่งแก้ว แต่ทว่าท่านรอคซี่ ท่านวัดความดันโดยใช้การคลำชีพจรที่ข้อมือ และก็จะบอกได้เป็นค่าความดันตัวบนตัวเดียว

อุปกรณ์วัดความดันของนายแพทย์ Korotkoff

แต่ท่าน Korotkoff ท่านได้พัฒนาการวัดความดันเลือดไปมากกว่านั้น คือ นอกจากจะใช้การคลำชีพจรเป็นพื้นฐานก่อนเช่นกัน (คลำชีพจรที่ข้อพับศอก ไม่ใช่ที่ข้อมือ) แต่ท่านสามารถใช้การ “ฟัง” เสียงสั่นของหลอดเลือดแดงที่ข้อพับแขน มาระบุค่าความดันได้อย่างแม่นยำ ได้ทั้งความดันตัวบน และตัวล่าง ซึ่งก็คือ ความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว และขณะคลายตัว ตามลำดับ นั่นเอง  

สำหรับทางการแพทย์แล้ว ส่วนตัวผมเห็นว่า ปี ค.ศ. 1905 เป็นปีแห่งการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแพทย์เลยทีเดียว เพราะจากการที่เราสามารถทำการวัดค่าความดันเป็นตัวเลขได้ชัดเจน ไม่คลุมเคลือแบบการคลำชีพจร แล้วบอกว่าชีพจรแข็ง หรือ ชีพจรตึงตัว ซึ่งค่อนข้างจะเป็นความรู้สึกล้วนๆนั้น ทำให้เราสามารถติดตามผลของภาวะความดันโลหิตสูงได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น เราสามารถบอกได้ว่า ความดันเลือดที่สูงนานๆนั้น จะมีผลต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองตัน/แตก ได้ไม่มากก็น้อย

… แม้กระนั้น ขนาดว่าเราสามารถวัดความดันออกมาชัดๆ ไม่ต้องอาศัยความรู้สึกอีกต่อไปแล้วก็ตาม แต่กว่าที่วงการแพทย์จะยอมรับว่า ความดันโลหิตสูง คือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม… ก็ต้องรอไปอีกร่วมๆ 70 ปี นับจากวันที่นายแพทย์ Korotkoff ค้นพบวิธีการวัดความดันเลือดที่แม่นยำ  … แม้จะเป็นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่า “การใช้ความรู้สึก” อีกเช่นกัน ที่ทำให้เราต้องรอไปนาน กว่าวงการแพทย์จะยอมรับว่า ความดันสูง เป็นสิ่งที่ต้องทำการรักษาจริงจัง 

…ฟังดูไม่น่าเชื่อนะครับ แต่มันคือเรื่องจริง เพราะเหตุว่า คนเราตัดสินความถูกผิด แม้จะจาก “เหตุและผล” ก็ตาม…. แต่ “เหตุและผล” นั้น ขึ้นอยู่กับ “ความรู้สึกส่วนตัว” จากประสบการณ์ หรือตรรกะของคนคนนั้น มากกว่าจะเป็น เหตุและผล ที่ปราศจากความเห็นส่วนตัวมาเจือปน

ในช่วง 60-70 ปีแรก หลังการค้นพบวิธีการวัดความดันเลือดโดยใช้ผ้าพันรอบแขน และดูแรงดันเทียบจากระดับความสูงของคอลัมน์ปรอทในแท่งแก้วนี้ เกือบร้อยทั้งร้อย แพทย์จะเอาไปใช้ในการวัดความดันในตอนกำลังผ่าตัด เพื่อดูว่าความดันเลือดต่ำเกินไปหรือไม่ (มากกว่าที่เราวัดในปัจจุบันในคนทั่วไป เพื่อดูว่าความดันเลือดเราสูงเกินไปหรือไม่) … เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น ในช่วงก่อน ค.ศ. 1900 นั้น หมอเราสามารถดมยาสลบได้ แต่ไม่ทราบวิธีการประเมินความดันเลือดในขณะผ่าตัด ที่ชัดเจนพอ

ศัลยแพทย์คนแรก ที่นำเอาวิธีการวัดความดันเลือดแบบแท่งแก้วปรอทนี้มาใช้ คือ ท่านศัลยแพทย์ประสาทสมอง ชั้นปรมาจารย์ นามว่า Sir Harvey Cushing ซึ่งท่านได้ไปเห็นวิธีการวัดความดันจากนายแพทย์ Rocci ที่อิตาลี และเอามาใช้งานในห้องผ่าตัดสมอง ที่โรงพยาบาลจอฮ์น ฮอปกินส์ 

และกว่าที่การวัดความดันเลือด จะเป็นที่ยอมรับ ว่าจำเป็นต้องวัด และนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้เวลาเรามาโรงพยาบาล มารอตรวจกับหมอ เจ้าหน้าที่พยาบาล (หรือพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้) จะต้องให้คนไข้วัดความดันเลือด แบบปัจจุบันนี้นั้น … ผู้ที่ได้ชื่อว่า ริเริ่มในการให้ความสำคัญกับการวัดความดันเลือด ..ไม่ใช่นายแพทย์ท่านใดเลย ..หากแต่เป็นบริษัทประกันชีวิต ที่เห็นตัวเลขสถิติ ว่าลูกค้าประกันคนไหนที่มีความดันโลหิตสูงๆ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” จนบริษัทประกันต้องออกนโยบายเก็บเบี้ยประกันแพงขึ้น หรือไม่ก็ไม่รับทำประกันไปเลย

…ติดตามตอนต่อไปกันได้ที่นี่ ครับ 

 

สัญญา เที่ยงบูรณธรรม

ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก

Copyright © sanyaheart.com

References:

  1. 90th Anniversary of the Development by Nikolai S. Korotkoff of the Auscultatory Method of Measuring Blood Pressure.
  2. Manual of Hypertension of The European Society of Hypertension. Second Edition 2014.
  3. Hypertension. Companion to Brenner & Rector’s The Kidney. Second Edition 2005. Chapter 1: A History of Hypertension Treatment. ED. Freis.
 

Leave a Reply